You are here: Home
สิม(อุโบสถ) วัดกลาง พ.ศ.๒๔๙๐
ประวัติวัดกลางพระแก้ว
วัดกลางพระแก้ว (เดิมชื่อวัดท่าฮัง) หรือวัดทักสิมาวาด (ทักสิมาวาส) ตั้งอยู่ที่ 57 หมู่ที่ 16 ถนนรวมมิตร บ้านอากาศ ตำบลอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร
สร้างเมื่อ พ.ศ.2430 มีโฉนดที่ดินเลขที่ 5436 จำนวน 3 ไร่ 96 ตารางวา มีทางสาธารณะประโยชน์รอบวัด มีบ้านเรือนของราษฎรตั้งล้อมรอบทั้ง 3 ด้าน ส่วนด้านทิศเหนืออยู่ติดลำน้ำยาม
เมื่อครั้งท้าวสีสุราช ท้าวนามโคตร ท้าวเพีย วรบุตร ท้าวติ่วสร้อย ได้พาราษฎรมาตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ บ้านริมน้ำยาม มีพระสงฆ์ สามเณร คนชรา คนหนุ่มสาว คนฉกรรจ์ ท้าวเพียเมื่อรวมกันเข้าหลายครอบครัวแล้ว รวมเป็นทั้งหมด 2,339 คน ต่อมาบ้านม่วงริมยาม มีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นมีที่ทำกินเป็นหลักแหล่งอุดมสมบูรณ์ พระสุนทรเทพวงศา เจ้าเมืองนครพนม จึงขอพระราชทานขอยกฐานะบ้านม่วงริมยามเป็นเมืองอากาศอำนวย โดยแต่งตั้งหลวงพลานุกูล(ท้าวสีสุราช) เป็นเจ้าเมืองคนแรก ต่อมาเห็นว่ามีทำเลที่เหมาะในการตั้งสำนักสงฆ์ เพราะที่เก่าเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมขัง จึงพร้อมใจกันย้ายที่พักสงฆ์มาทางด้านทิศตะวันออกบริเวณริมน้ำยามที่เรียกว่า“ท่าฮัง” และผู้คนก็ขยายบ้านเรือนมาทาง ทิศตะวันออก เมื่อบ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ จึงขออนุญาต หลวงพลานุกูล (ท้าวสีสุราช) เป็นเจ้าเมืองคนแรก และสร้างที่พักสงฆ์ขึ้นใหม่ จึงขออนุญาตสร้างวัดอย่างถูกต้อง
---------------------------------
คำว่า ท้าว หมายถึง คำที่เรียกนำหน้าชื่อของคนสมัยก่อน เช่น ท้าวสีสุราช ซึ่งปัจจุบันอาจจะเป็น นายสีสุราช ก็เป็นได้
ต่อมาบ้านเมืองได้ขยายมาทางทิศตะวันออก ได้สร้างเมืองขึ้นและสร้างวัดขึ้นอีกที่ริมฝั่งน้ำยามบ้านเมืองก็เจริญขึ้นมาก และได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมาสร้างพันธสีมาขึ้นในวัดนั้น 1 หลัง จึงขนานนามวัดนั้นว่า“วัดทักสิมาวาด(ทักสิมาวาส)”(ปัจจุบัน คือ วัดกลางพระแก้ว)ต่อมามีการสร้างวัดเพิ่มขึ้นอีก 2 วัด คือ วัดทุ่ง (คลิกเข้าดูเว็บไซต์วัดทุ่งได้เลยครับ)และวัดเหนือ(วัดจอมแจ้งในปัจจุบัน)วัดทักสิมาวาดอยู่ระหว่างกลางของวัดทุ่งและวัดเหนือ คนจึงนิยมเรียกว่า วัดกลาง ตั้งแต่นั้นมา
ต่อมามีหนังสือมาถึง ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น 7 ค่ำ ปีฉลู จุลศักราช 1215 เนื่องจากบ้านเมืองเจริญขึ้นตามลำดับ มีประชาชนผลเมืองหนาแน่นก็สร้างวัดขึ้นอีก คือ วัดจอมแจ้ง วัดไตรภูมิ วัดศรีโพนเมือง และวัดอุดมรัตนาราม ตามลำดับ ปัจจุบันมีวัดรวมทั้งสิ้น 6 วัด (คัดลอกข้อความจากหนังสือภูมิวัดเดิม บ้านม่วงฮิมยาม เมืองอากาศ ภาษาไทยน้อย แล้วนำมาแปลเป็นภาษาไทย โดยพระครูพิมลธรรมนิเทศ,นายอุทร ใยแก้ว และจากการสัมภาษณ์ผู้เฒ่า ผู้แก่ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป)
บทสรุป วัดกลางพระแก้ว ตั้งขึ้นก่อนทุกวัดในเขตเทศบาลตำบลอากาศอำนวย เดิมชื่อ วัดกลาง ซึ่งป็นชื่อที่ขออนุญาตตั้งวัดครั้งแรกและเป็นชื่อทางการ ต่อมา พ.ศ.2522 อาจารย์อนันต์ หิรัญธนกุล (ชาวบ้านอากาศเรียกท่าน ครูหนูทา) เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินแผนกศึกษาธิการอำเภออากาศอำนวยในสมัยนั้น ได้ขนานนามวัดเพิ่มเติมอีกว่า “วัดกลางพระแก้ว”เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูชื่อเสียงขององค์พระแก้ว ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายแก่ประชาชนทั่วไป
อาคารอาสนะ ประกอบด้วย
1.สิม (อุโบสถ) กว้าง 5 เมตร ยาว 11 เมตร สร้างเมื่อพ.ศ.2440
2.กุฎิที่พักอาศัยของพระภิกษุ – สามเณร จำนวน 1 หลัง กว้าง 10 เมตร ยาว 18 เมตร สร้างเมื่อพ.ศ.2512
3.ศาลาการเปรียญ 1 หลัง กว้าง 14 เมตร ยาว 25 เมตร สูง 2 ชั้น สร้างเมื่อ พ.ศ.2522 มีกำแพงคอนกรีตรอบวัดทั้ง 4 ด้าน สร้างเมื่อปี พ.ศ.2533
4.หอพระแก้ว 1 หลัง กว้าง 14 เมตร ยาว 28 เมตร สูง 2 ชั้น สร้างเมื่อปี พ.ศ.2534
5.มีห้องน้ำ – ห้องสุขา จำนวน 17 หลัง สร้างเมื่อปี พ.ศ.2535
6.มีโรงครัว 1 หลัง กว้าง 6 เมตร ยาว 12 เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ.2536
7.มีศาลาบำเพ็ญกุศล 1 หลัง กว้าง 6 เมตร ยาว 16 เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ.2538
8.มีซุ้มประตูวัด 2 หลัง ทิศตะวันตกของวัด สร้างเมื่อปี พ.ศ.2543 ทิศตะวันออกของวัด สร้างเมื่อปี พ.ศ.2554
9.ศาลาพักร้อน 1 หลัง กว้าง 5 เมตร ยาว 8 เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ.2546
10.กุฏิรับรองพระสงฆ์ 1 หลัง กว้าง 6 เมตร ยาว 12 เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ.2546
การบริหารและการปกครองมีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม ดังนี้
1.พระโหยง โยคมุตฺโต
2.พระโพธิ์ อติพโล
3.พระทุม ปทุโม
4.พระกูล กิตติสาโร
5.พระอาจารย์มาก มหาญาโณ
6.พระอาจารย์พุดทา พุทฺธิสาโร
7.พระอาจารย์คำ คุณงฺกโร
8.พระอาจารย์ทองลัด ทีปธมฺโม
9.พระอาจารย์บุญมี จตฺตสาโธ
10.พระอาจารย์แถว อินทปญฺโญ
11.พระอาจารย์ศรี เขมวิโร
12.พระอาจารย์เสงี่ยม จนฺทปญฺโญ
13.พระมหาบุญจันทร์ กนฺตวิโร
14.พระอาจารย์แก กุสโล
15.พระอาจารย์สันต์ สนฺตมโน
16.พระอาจารย์เลิศ ลกฺขิตสีโล
17.พระอาจารย์ อนันท์ อติธมฺโม
18.พระครูวุฒิธรรมานุยุต ( พระอธิการสุรินทร์ ธมฺมวุฑฺโฒ )
19.พระครูสกลถาวรกิจ (เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน)
คำขวัญประจำคุ้มวัดกลางพระแก้ว
องค์พระแก้วอันศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์มีปาฏิหาริย์
สิมโบราณอันเก่าแก่ เรือเจ้าแม่หงษาวดี 88 งามบริสุทธิ์
ขุดโดย นายช่างดำ ฤทธิโสม อนุโลมตามบุญประเพณี
มีพระครูวุฒิ เป็นเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ที่สำคัญเป็นพระอุปัชฌาย์
งามสง่าคือ หอพระแก้ว ตกแต่งแล้วเป็นสง่าราศรี
วันที่ 1 มกราคม ของทุกปี จัดให้มีงานบุญสุนทานเอยฯ
รวบรวมและเรียบเรียงโดย พระครูวุฒิธรรมานุยุติ (อดีดเจ้าอาวาสวัดกลาง)
วันที่ 8 พฤษภาคม 2548
รายละเอียดประวัติวัดกลางพระแก้ว ดาวน์โหลดได้ที่นี่